นิจจรีย์ นิธินวกร |
“หนึ่งแสนบาทแรก” เป็น “กำไร” ที่ได้จาก“หุ้น ปตท.” (PTT) หลัง “นานิ” เด็กหญิงที่เพิ่งเรียนอยู่เพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ตัดสินใจทุบกระปุกออมสินรูปหมูที่มีเงินเก็บอยู่ประมาณ 20,000 บาท มาซื้อหุ้น PTT ต้นทุน 38 บาท ตามคำเชิญเชื้อของผู้เป็นพ่อ อดีตพนักงาน “คิง พาวเวอร์” แม้จะไม่เข้าใจว่า “หุ้นคืออะไร” แต่เด็กหญิง ถือคติ “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” “จุดประกาย” รักการลงทุนเกิดขึ้น ณ บัดนั้น “นานิ” ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า “อะไร” ผู้เป็นแม่ ปัจจุบันยึดอาชีพ แอร์โฮสเตส สายการบิน "คาเธ่ย์ แปซิฟิค” บอกเธอว่า ตอนเกิดมาแม่ออกอาการ “งง” เฮ้ย!! นี่มันตัวอะไร ตั้งแต่เรียนจบโรงเรียนเซนต์โยเชฟคอนเวนต์ เธอแทบไม่ต้องควักเงินเรียนหนังสือสักบาท เพราะสอบชิงทุนการศึกษามาตลอด ทุนแรกเกิดขึ้นในปี 2551 ณ Commonwealth Secondary School (Singapore) Singapore-Cambridge GCE O level ซึ่งเป็นทุนการศึกษาของ ASEAN Scholarship Secondary 3-4 ทุนที่ 2 เกิดขึ้นในปี 2553 ณ Hwa Chong Institution (Singapore) Singapore- Cambridge GCE A Level ซึ่งเป็นทุนการศึกษาของ ASEAN Scholarship เช่นกัน
ส่วนสุดท้าย คือ มหาวิทยาลัยที่เธอกำลังเรียนอยู่ในปัจจุบัน “เมื่ออายุ 35 ปี พอร์ตหุ้นต้องมี “มูลค่า 6,000 ล้านบาท” โตขึ้นจะมีสไลต์การลงทุนเหมือน “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” บุรุษผู้มีอสิระภาพทางการเงิน ไม่ต้องทำงานประจำ แต่มีเงินใช้ไม่ขาดมือ” นานิ-นิจจรีย์ นิธินวกร” สาวน้อยวัย 20 ปี เล่าความฝันครั้งใหม่ให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week" ฟัง อนาคตหุ้นทุกตัวในพอร์ตต้องเป็น “หุ้นปันผล” จริงๆมีเงินแค่ 1,000 ล้านบาท ก็พร้อมเกษียณตัวเองจากงานประจำแล้ว (หัวเราะ) ตอนนี้พอร์ตหุ้นแบ่งเป็นแนววีไอ 80% ที่เหลืออีก 20% ลงทุนแบบขำๆ ในฟากของวีไอตั้งใจจะทำให้หุ้นเหล่านั้นเป็นหุ้น “ห่านทองคำ” หากมีเงินเหลือจะทยอยเก็บหุ้นลักษณะนี้เข้าพอร์ต “พ่อปลูกฝังเรื่องการออม” “วัยรุ่นเงินล้าน” เกริ่นนำชีวิตการลงทุน
หากวันนั้นพ่อไม่ชวนซื้อหุ้น PTT อารมณ์อยากลงทุนในตลาดหุ้นคงไม่เกิด จริงๆพ่อสอนให้รู้จักออมเงินและบริหารเงินเองมาตั้งแต่เด็ก ท่านจะให้ค่าขนมรายสัปดาห์ เพื่อให้เราจัดสรรการใช้เงินด้วยตัวเอง หนึ่งสัปดาห์ผ่านไปเหลือเงินเท่าไรให้หยอดใส่กระปุกรูปหมูไว้ พ่อสอนเราทำทุกอย่างแม้กระทั่งขี่จักรยาน และว่ายน้ำ ลงทุนหุ้น PTT ได้ไม่นาน ราคาหุ้นเด้งขึ้นหลายเท่าตัว ความคิดอยากมี “อิสระภาพทางการเงิน” เกิดขึ้นตอนนั้นละ เมื่ออายุ 16 ปี เริ่มศึกษาการลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น ชิมลางด้วยการเล่น click2win (ทดลองส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นและอนุพันธ์ในพอร์ตหุ้นจำลอง) เล่นอยู่ประมาณ 1 ปี ผลปรากฎว่า “ขาดทุน” ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่า “ลงทุนหุ้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด” จริงๆที่กำไรจากหุ้น PTT เกิดจากฝีมือคุณพ่อล้วนๆ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความรู้ของเราเลยสักนิด (หัวเราะ) บังเอิญช่วงนั้นบินไปเรียนต่อที่ประเทศสิงคโปร์ หลังจากสอบชิงทุนการศึกษาได้ จริงๆไม่ได้ตั้งใจจะไปสอบด้วยซ้ำ บังเอิญเพื่อนแม่มาชวนให้เราไปสอบเป็นเพื่อนลูกเขา ผล ปรากฎว่า “สอบได้หน้าตาเฉย” หลายคนเห็นประวัติการศึกษาของ “นานิ” คงคิดว่า เด็กคนนี้บ้านรวยจริงๆไปเรียนต่อเมืองนอกตั้งแต่เด็กๆ ความจริงไม่ใช่เลย ครอบครัวเราเคยมีหนี้สิน มีโอกาสไปเรียนก็เพราะสอบชิงทุนทั้งนั้น ถ้าไม่ได้ทุนคงไม่ไป “มันไม่คุ้ม” เพื่อนบางคนไปเรียนต่อใช้เงินตั้ง 6 ล้านบาท กลับมาเมืองไทยเงินเดือนแค่ 30,000 บาท
ตอนนั้นเริ่มหาโอกาสศึกษาการลงทุนจริงจังๆมากขึ้น ด้วยการอ่านหนังสือการลงทุนแบบง่ายๆเน้นมีตัวการ์ตูนเยอะๆ จริงๆคุณพ่อแนะนำให้อ่านหนังสือ “ตีแตก” ของ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้เผยแพร่แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคนแรกในประเทศไทย เปิดหน้าแรกต้องร้อง “โอ้โห” ตัวหนังสือเต็มไปหมด หนังสือของ “ปีเตอร์ ลินช์” (Peter Lynch) สุดยอดผู้จัดการกองทุนเราก็อ่าน ผู้ชายคนนี้ “ไอดอลแห่งการลงทุน” บอกเลย ใช้เวลาศึกษาการลงทุน 1 ปี ตอนนั้นน่าจะอายุ 17 ปี ตัดสินใจนำเงินเก็บบวกกำไร 100,000 บาท ที่ได้จากการขายหุ้น PTT มาเปิดพอร์ตเป็นชื่อตัวเอง เพื่อลงทุนหุ้นตัวอื่นๆ บอกตรงไม่อยากเล่นหุ้นในพอร์ตพ่อแล้ว อยากลงทุนเองบ้าง เชื่อหรือไม่ปีก่อน (2555) เพิ่งเห็นดอกผลจากการลงทุน ทุกวันนี้มีเงินลงทุน “หลักล้านบาท” แล้ว “การมี “เงินล้าน” ในวัยเรียนทุกคนทำได้จริง โดยที่ไม่ต้องสูญเสียชีวิตวัยรุ่น”
สมัยเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายปีที่ 6 เริ่มรู้สึกว่า การเรียนหนังสืออาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต เราต้องแบ่งเวลาออกมาทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง ทุกครั้งที่เข้าไปเรียนหนังสือจะพกแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์เข้าไป เพื่อเปิดดูเว็ปไซด์เกี่ยวกับตลาดหุ้น ถามว่า หุ้นตัวไหนพลิกพอร์ตลงทุนเป็น “หลักล้านบาท” เธอบอกว่า หุ้น เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ตัวนี้เลือกเองกับมือ ช้อนตอนราคา 20 บาท ตั้งใจจะถือยาว จากประสบการณ์ที่เคยเล่นหุ้นเพียงตัวเดียว (หัวเราะ) พบว่า บริษัทขนาดใหญ่ไม่มีทางล้มละลาย “ความแข็งแกร่ง-มั่นคง” จะทำให้เขาเติบโตต่อเนื่อง เมื่อก่อนแถวบ้านเคยมีห้างจัสโก้ หลายปีก่อนได้เปลี่ยนเป็น “เซ็นทรัล สาขารัตนาธิเบศร์” เชื่อหรือไม่ คนแห่ไปเพียบต่างจากเมื่อก่อนแทบไม่มีใครเดิน ช่วง “เซ็นทรัลเวิลด์” ไฟ้ไหม้ ราคาหุ้น CPN ไม่ลดลงเลยตรงข้ามกลับดดีขึ้นไปยืน 25 บาท ตอนนั้นมีความคิดว่า ราคาหุ้นดีแบบนี้สงสัยมี “ขาใหญ่” หนุนหลังชัวร์ (ยิ้ม) ด้วยความหยิ่งไม่อยากให้ใครมาช่วยดันหุ้น อยากมีกำไรด้วยฝีมือตัวเอง ออกแนวหยิ่งในศักดิ์ศรี ตัดสินใจขายหุ้น CPN แต่ตอนนี้อยากเอาหัวโขกกำแพง ราคาเคยพุ่งพรวดยืนหลักร้อยบาท (ทำหน้าเศร้า) เธอ สถบ.. หุ้น ซีพี ออลล์ (CPALL) ครั้งหนึ่ง เคยทำกำไรให้เพียบ ซื้อเพราะใครๆก็เข้าเซเว่น บางครั้งระแวกเดียวกันมีเซเว่นถึง 2 ร้าน ความต้องการสูงมาก คนพรึ่บขนาดนี้กำไรจะไม่เยอะได้อย่างไร เหตุผลง่ายๆในการเลือกช้อนหุ้นตัวนี้ อีกตัวที่สร้างกำไรอย่างงาม คือ หุ้น ท่าอากาศยานไทย (AOT) ต้นทุน 40 บาท ขายไปช่วง 90-100 บาท ภูมิใจมากๆ แม้วันนั้นจะขายหมู แต่ก็เป็นหมูที่เราขุนจนอ้วนกว่าตอนที่ซื้อมาตั้งเยอะ
ทุกคนสามารถเข้าถึงศักยภาพของหุ้น AOT ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องเพิ่งพลังเซียนหุ้นรายใด หากใครเดินทางบ่อยๆ จะเห็นว่า มีคนเดินทางเข้าออกเมืองไทยเยอะมากแค่ไหน “อายุ 19 ปี มีเงินล้านแล้ว เราภูมิใจนะ ตอนนั้นแบ่งเงินออกมา 450,000 บาท ให้พ่อกับแม่” เธอ เล่าต่อว่า ช่วงนี้มีหุ้นในพอร์ตเพียง 3 ตัว ไล่มาตั้งแต่ หุ้น ไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) หรือ IFS ผู้ให้บริการสินเชื่อแฟคเตอริ่ง สินเชื่อลีสซิ่งประเภทสัญญาเช่าทางการเงิน สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อประเภทอื่นๆ บริษัทแห่งนี้จ่ายเงินปันผลปีละ 3 ครั้ง ปีก่อน (2555) กำไรกระโดดจาก 67.84 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 111.71 ล้านบาท เขามีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นคนสิงคโปร์ ตอนเราเรียนที่สิงคโปร์รับรู้มาตลอดว่า เขาเก่งด้านการเงิน เชื่อว่า หุ้นตัวนี้จะค่อยๆเติบโต ตั้งแต่ลงทุนรับเงินปันผลมาแล้วเฉลี่ย 4-5% ทุกปี หุ้น ช.การช่าง” (CK) ต้นทุน 19 บาท บริษัทแห่งนี้มีประสิทธิภาพมาก เห็นได้จากงานที่มีเข้ามาตลอด แถมเป็นโปรเจคใหญ่ๆทั้งนั้น ที่ผ่านมาเขายังได้กำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนบริษัทลูกด้วย ฉะนั้นหากราคาต่ำกว่า 20 บาท ตั้งใจจะช้อนเข้าพอร์ตเพิ่ม ตัวสุดท้าย คือ หุ้น เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เลือกเข้าพอร์ต เพราะเชื่อในตัวเจ้าของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ท่านเป็นคนมีวิสัยทัศน์ที่ดีมากๆ เห็นได้จากกลยุทธ์ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” เมื่อปี 2555 “นานิ” เคยไปฝึกงานในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เราเห็นบรรยากาศการทำงาน พนักงานเขาตั้งใจมากๆ ที่สำคัญบริษัทมีระบบการจัดการเงินที่ดีมาก เขาจะใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกอย่างธุกกิจของเขามีตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ไม่รู้ว่าป่านนี้ราคาหุ้น CPF ซื้อขายเท่าไรแล้ว ไม่ได้ดูเลย ออกแนวยึดหลักการลงทุนแบบ “ปีเตอร์ ลินช์” ยังไงก็ไม่ขาย..
ถามถึงกลยุทธ์การลงทุน เธอเล่าว่า ชอบหลักการลงทุนของ "ป้อม-ปิยะพันธ์ วงศ์ยะรา” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ "สต็อกทูมอร์โรว์" เจ้าของนามแฝง Looking แกเคยบอกว่า “หุ้นขึ้นขอให้มีหุ้น หุ้นลงขอให้มีเงิน” ทุกครั้งที่เจอ “หุ้นถูกใจ” จะใช้เวลาพิจารณาเพียง 4-5 องค์ประกอบ ประการที่หนึ่ง ดู “กำไร” ยิ่งเยอะยิ่งดี นั่นแปลว่า ผู้บริหารเก่ง หรือผลิตภัณฑ์มีความต้องการสูง หากบริษัทไหนมีกำไรมากในระยะยาวจะสะท้อนกลับมาทำให้รูปของ “ราคาหุ้น” กำไรมากเราในฐานะผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินปันผลมากไปด้วย ประการที่สอง ดู “อัตราส่วนราคาต่อกำไร” หรือค่า P/E Ratio หุ้นดีๆควรมีค่า P/E น้อยกว่า 10-15 เท่า จริงๆแล้วทุกอย่างขึ้นอยู่กับธุรกิจ ประการที่สาม ดู “ราคาต่อมูลค่าตามบัญชี” (Book Value) ส่วนมากหุ้นจะราคาสูงกว่ามูลค่าตามบัญชี แต่ก็ยังมีบริษัทดีๆ ที่มี P/BV น้อยกว่า 1 ประการที่สี่ ดู “ราคาย้อนหลัง 6 เดือน” หุ้นบางตัวขึ้นลงหวือหวา ทั้งๆที่ผลประกอบการไม่ได้สวยมากมาย ถือเป็นหุ้นที่น่ากลัว “นานิ” มีคติประจำตัวว่า “หากราคาหุ้นขึ้นเกิน 50% ในรอบ 6 เดือน จะไม่เข้าไปซื้อเด็ดขาด จะรอจนกว่ามีโปรโมชั่นมาให้เก็บอีกรอบ” ประการสุดท้าย คือ ดู “ขนาดของหุ้น” พอร์ตเราเล็ก จะไม่เน้นถือหุ้นตัวใหญ่ เพราะจะซื้อได้ไม่กี่หุ้น อีกอย่างหุ้นตัวใหญ่โกยกำไรไม่ค่อยสะใจ (หัวเราะ) ถามถึงการลงทุนหุ้นต่างประเทศ? “นานิ” บอกว่า มีโอกาสเปิดพอร์ตหุ้นฮ่องกง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่พอร์ตยัง “ขาดทุน” ถือสะว่า จ่ายค่าเทอมละกัน เธอพูดติดตลก เรารู้อยู่แล้วว่า ลงทุนครั้งแรกต้องขาดทุน
เหตุที่ซื้อเพราะเป็นจังหวะที่ดีค่าเงินบาทแข็งมาก.. พอร์ตฮ่องกงมีหุ้นอยู่ 2 ตัว คือ กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มห้างสรรพสินค้า ถ้าในเมืองไทยเขาจะคล้ายๆ ห้างสรรพสินค้าพารากอน จริงๆ เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงก็ไม่ค่อยมีความรู้เท่าไร แต่อยากลองศึกษา อีกอย่างหากลงทุนเพียงตลาดหุ้นเมืองไทยอาจมีความเสี่ยง อย่างน้อยหุ้นไทยลงเรายังมีเงินในตลาดฮ่องกงให้พออุ่นใจ “พ่อพูดเสมอว่า จงซื้อเพียงหุ้น Value Stock หรือ หุ้นคุณค่า ไม่จำเป็นต้องซื้อบ่อยๆ คำสอนเหล่านั้น ทำให้วันนี้ “นานิ” ประสบความสำเร็จในการลงทุน อายุแค่ 20 ปี ก็มีเงินล้านได้”
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 กันยายน 2556 01:00